» ที่แรกของไทย! มข.ผนึกกำลัง ม.เซาท์เวสต์เจียวทง เปิดตัวสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute (611 Views)

มข.ลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งสถาบัน พร้อมเปิดสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute ร่วมกับ SWJTU สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินหน้าหลักสูตร High Speed Train Engineering ผลิตบัณฑิตคุณภาพเสริมกำลังตลาดแรงงานด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง

วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ Southwest Jiaotong University (มหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง) สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute พร้อมจัดพิธีเปิดสถาบัน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภายในงานได้รับเกียติจาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น Ms. Yang Ning รักษาการกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ จังหวัดขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น Prof. Yao Faming รองอธิการบดี Southwest Jiaotong University (SWJTU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหาร Tianyou Railway Institute และ China Railways International Thailand อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoA) ในการจัดตั้งสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระดับประเทศด้านรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การคมนาคมในภูมิภาค ร่วมกับ Southwest Jiaotong University (SWJTU)

ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้ง High Speed Train ยังเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยอีกด้วย

“มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธกิจและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญของชาติด้านรถไฟความเร็วสูง จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์รถไฟความเร็วสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย Southwest Jiaotong ภายใต้ชื่อหลักสูตร “วิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง” (High Speed Train Engineering) เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และก่อตั้งสถาบัน KKU-SWJTU Tianyou  Railway Institute ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง”

 

Prof. Yao Faming รองอธิการบดี Southwest Jiaotong University (SWJTU) สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ระบบรางรถไฟไทย-จีนเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” one belt one road) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะระหว่างไทยและจีนถือเป็นถนนสายหลักและกุญแจสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าของนโยบาย one belt one road ส่งผลให้ไทยและจีนมีโอกาสมากขึ้นในการผลักดันและพัฒนาการขนส่งระบบราง

มหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทงในฐานะสถาบันอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมแห่งแรกของประเทศจีน และเป็นสถานศึกษาด้านของการรถไฟแห่งแรก ๆ ของประเทศจีน ได้ขับเคลื่อนงานด้านวิศวกรรมมาตลอด 127 ปี ผลิตผู้มีความรู้ความสามารถกว่า 300,000 คน และได้ผลิตนักวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศกว่า 60 คน และผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและออกแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศอีก 31 คน เพื่อก้าวจากอันดับหนึ่งของจีนสู่อันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ถือเป็นการสร้างต้นแบบนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการขนส่งของจีน

“การก่อตั้งสถาบันระบบรางเทียนโย่ว โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทงจะก่อเกิดคุณประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นำเอาจุดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย หลอมรวมเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างจีน-ไทย”

ขณะที่ รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Southwest Jiaotong University มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตร “วิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง” (High Speed Train Engineering) รองรับกับเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และรวมถึงการนำความเจริญสู่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จึงต้องพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้มีคุณภาพและศักยภาพพร้อมรองรับในตลาดแรงงานในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ กอปรกับมีความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีที่แน่นแฟ้นกับ Southwest Jiaotong University ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยได้มีการแลกเปลี่ยน การเยี่ยมเยือน การประชุมหารือในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ตลอดจนได้รับสนับสนุนจากกงสุลใหญ่ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ​ จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง ในยุคดิจิทัล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงานยุคแห่งการแข่งขันมีโอกาสได้งานทำสูงในตลาดแรงงาน กอปรกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการผลิตบัณฑิตคุณภาพสู่สังคม Future Global Citizens

ด้าน Ms. Yang Ning รักษาการกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสักขีพยานในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ  สถาบัน Tianyou Railway Instutiue ในต่างประเทศแห่งแรกของโลก  ในปีนี้เป็นปีครบรอบ 10 ปีของการริเริ่มแบบแผนโครงการเส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21“一带一路” (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง)

การจัดตั้ง “สถาบัน Tianyou Railway Instutiue”  จึงนับเป็นโอกาสอันดี ในการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แก่ผู้เรียนในภูมิภาคประเทศไทยและเอเชียได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ เสริมสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้  ” จีน-ไทย กลายเป็น ครอบครัวเดียวกัน”  และเพื่อให้ทั้งสองประเทศ  กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับพิธีลงนามการจัดตั้งและเปิดศูนย์The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute  และหลักสูตร  (High Speed Train)  ในครั้งนี้ มีข้อตกลงสำคัญ เพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน แลกเปลี่ยนเยี่ยมชม และฝึกอบรมด้านการขนส่งทางราง แลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงรวมไปถึงการผลิตบัณฑิตที่จะตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงของประเทศ เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถมีคุณภาพและศักยภาพด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับในตลาดแรงงาน โดยมีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2571)

ขณะที่ พิธิวัฒน์  อังศุวิริยะ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 ในนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ระบุว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะได้มีหลักสูตรใหม่ ๆ ส่วนตัวมีความสนใจเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นนวัตกรรมของประเทศจีน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ จึงได้ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้น ทราบว่าจะได้เดินทางไปศึกษาระบบราง และรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศจีนด้วย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สั่งสมประสบการณ์เพื่อต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพวิศวกรรถไฟความเร็วสูงต่อไป

ข่าว: ผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์ กองสื่อสารองค์กร

ข้อมูลข่าว: พราวแสง สิริภานุวัฒน์ นักวิเทศสัมพันธ์ กองการต่างประเทศ

ภาพ: กองสื่อสารองค์กร

ที่มา: https://th.kku.ac.th/148824/


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 10 กรกฎาคม 66