» สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มข. จับมือ เอกชน ชุมชน จัดทริปต้นแบบ ท่องเที่ยวสุขภาพดีแบบวิถีอีสาน (2423 Views)

เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2563  สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดโครงการ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบวิถีอีสานไทย”(Health and Wellness Tourism Innovation The most impression E-San Style.) โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในงาน ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ กล่าวรายงาน  ในการนี้ มีคณะผู้บริหารจากภาครัฐบาล เอกชน นักวิจัย สื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีกว่า 30 คน  ณ ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น

โครงการ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบวิถีอีสานไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพท้องถิ่นแนวสร้างสรรค์ โดยเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เช่น เส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน วัฒนธรรม อาหาร และ ประเพณีท้องถิ่น การดูแลสุขภาพด้วยนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ รูปแบบธุรกิจของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  เพื่อเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เน้นการดำเนินงานทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน สร้างรายได้ในชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และ ส่งเสริมการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางการเกษตร คณะนักวิจัยในโครงการ จึงได้บูรณาการงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นจุดแข็งของชุมชนของภาคอีสานพัฒนาเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อการนำไปขยายผลต่อไป

“ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  มูลค่าของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคาดหวังเกี่ยวกับการผ่อนคลายร่างกายจิตใจเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมและการใกล้ชิดกับธรรมชาติ จากข้อมูลดังกล่าว สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดทำ โครงการท่องเที่ยว นวัตกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบวิถีอีสานไทย เพื่อเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม การพัฒนาอาหาร การนวดเพื่อสุขภาพ และ ผลิตภัณฑ์สปา กำหนดจัดระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 -วันที่ 4 ธันวาคม 2563  ในเส้นทางท่องเที่ยว จังหวัดขอนแก่น และ ชัยภูมิ  โดยวันที่ 1 ธันวาคม 2563 เดินทางสู่ อ.คอนสาร จังหวัดชัยภูมิ สักการะวัดถาวรชัยศิริ ท่องเที่ยวน้ำผุดทัพลาว ร่วมกิจกรรมเสริมทักษะพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วันที่ 2 ธันวาคม 2563 กิจกรรมทดสอบสปาจากเกลือสินเธาว์ ซึ่งเป็นเกลือหลักของภาคอีสาน และการนวดคีตนาคราช การนวดผสมผสานรูปแบบใหม่ได้แรงบันดาลใจมาจากท่วงท่าพญานาคบิดหมุนว่ายน้ำ  วันที่ 3 ธันวาคม 2563  ท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น และ กิจกรรมการตรวจสุขภาพ วันที่ 4 ธันวาคม 2563 วันสุดท้าย ส่งมอบข้อมูลตรวจสุขภาพ ซึ่งตลอดการเดินทางท่องเที่ยว ผู้ร่วมโครงการจะได้รับบริการอาหารสุขภาพประยุกต์กับอาหารท้องถิ่น ที่สร้างสรรค์ให้เกิดความแปลกใหม่ ร่วมสมัย  มีฤทธิ์ต้านเครียด ช่วยผ่อนคลาย อาทิ น้ำมะตูมผสมขิง เอแคลร์ผักโขม ซูชิข้าวเม่า ข้าวผัดน้ำพริกมะขามปลานิลทอดสมุนไพร” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ กล่าว

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “ภาคอีสานมีจุดแข็งหลายด้านที่สามารถนำมาเสริมสร้างประสบการณ์และสร้างเอกลักษณ์ให้กับธุรกิจได้ เช่น ธุรกิจสปา สามารถใช้เกลือสินเธาว์ ซึ่งเป็นเกลือสินเธาว์ที่มีคุณภาพดีพบมากในภาคอีสาน มีสมุนไพรที่หลากหลายจำนวนมาก สามารถนำมาพัฒนาเป็น salt scrub นอกจากนี้ ภาคอีสานยังมีจุดเด่นในเรื่องอาหารที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งเรื่องรสชาติและวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านอาหารสุขภาพได้  จุดเด่นดังกล่าว สามารถนำมาดัดแปลง สร้างมูลค่าได้อีก  ฉะนั้นการร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ในเรื่องการพัฒนาแบบบูรณาการร่วมกันทั้ง ผลิตภัณฑ์สปา การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยวขนบธรรมเนียม ประเพณีชุมชนท้องถิ่น  เป็นอีกหนทางที่จะช่วยตอบสนองนโยบายของรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าว

 

ทั้งนี้โครงการ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบวิถีอีสานไทย”(Health and Wellness Tourism Innovation The most impression E-San Style.) ได้ดำเนินการ หลายด้าน อาทิ  จัดทำ Platfrom ต้นแบบของการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ อบรมและจัดทำคู่มือแนวทางการพัฒนาอาหารสุขภาพจากอาหารท้องถิ่น อบรมและจัดทำคู่มือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาเพื่อสุขภาพ อบรมการนวดแบบคีตนาคราช อบรมให้ความรู้กลุ่มมัคคุเทศก์อาสาของชุมชนเรื่องอาณาจักรโบราณ ตำนานความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เส้นทางสายไหม แหล่งเกลือ และ ความเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : เสกสรร นาหัวนิล นักศึกษาฝึกฝนประสบการณ์กองสื่อสารองค์กร

ที่มา: https://th.kku.ac.th/40863/


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 3 ธันวาคม 63