» มข.ร่วมให้แนวทางยกระดับการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา (1075 Views)

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ให้การต้อนรับและหารือข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 (จังหวัดสกลนคร) และโรงเรียนในสังกัด ในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน เป็นประธานในการหารือข้อเสนอแนะแนวทาง พร้อมด้วย ผศ.ดร.เกียรติ แสงอรุณ คณบดีคณะสหวิทยาการ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ผศ.ปิยะศักดิ์ ปักโคทานัง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน รศ.จุมพล ราชวิจิตร ที่ปรึกษาด้านบริการและจัดฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน นางจริยา ปารีพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 (จังหวัดสกลนคร) ร่วมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี โรงเรียนบ้านม่วงพิทยาคม และโรงเรียนกุดเรือคำพิทยาคาร ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 (จังหวัดสกลนคร) ร่วมในการหารือ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ กล่าวว่า การร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางในการจัดการเรียนในด้านคณิตศาสตร์สู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 (จังหวัดสกลนคร) และโรงเรียนในสังกัด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม เครื่องมือ นักศึกษาฝึกสอน รวมไปถึงคำแนะนำอย่างเต็มที่ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมหารือในครั้งนี้เป็นโรงเรียนที่ได้เข้าร่วมหรือมีโครงการและกิจกรรมนำร่องในการจัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความตั้งใจในการพัฒนาผู้เรียนในการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ เพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู สำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนในการนำแนวคิดในการพัฒนาการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ในทุกระดับชั้น ซึ่งเน้นการเรียนรู้แนวใหม่ โดยเฉพาะการวางแผนการเรียนรู้โดยมองไปถึงการพัฒนาการคิดของนักเรียน และให้ครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งในหนึ่งชั้นเรียนอาจจะมีครูหลายคนช่วยบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งต่างจากเดิมที่การเรียนการสอนนั้นเป็นเพียงการพยายามสอนเนื้อหาให้ครบถ้วนตามแผนการสอนให้มากที่สุด มองว่าหากใช้เครื่องหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ ควรทำให้สอดคล้องกับแนวคิดและวิธีการคิดในรูปแบบใหม่เช่นกัน จะเป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิด เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แก้ปัญหาของตนเองด้วยตนเอง เสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง และมีการประเมินโดยการให้คุณค่ากับการพัฒนาแนวคิดไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ นำไปสู่การพัฒนาการคิดให้กับนักเรียนโดยเฉพาะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะอื่นๆ ร่วมด้วย และเชื่อว่าการหารือแนวทางและข้อเสนอแนะในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มที่ดีและจะมีการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลที่ยั่งยืนต่อไป

นางจริยา ปารีพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 (จังหวัดสกลนคร) กล่าวว่า ในนามสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้โอกาสกับทางผู้บริหารและคณาจารย์ในการให้คำแนะนำในการนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาผู้เรียน สืบเนื่องด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปติดตามการดำเนินโครงการตามพระราชดำริที่โรงเรียนบ้านม่วงพิทยาคม อำเภอบ้านม่วง โรงเรียนกุดเรือคำพิทยาคาร อำเภอวานรนิวาส และโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี อ.ภูพาน จังหวัดสกลนคร จึงเล็งเห็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจึงได้เข้าร่วมหารือเพื่อขอรับคำแนะนำดังกล่าว โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 43 โรงเรียน และ 3 โรงเรียนได้ร่วมหารือในครั้งนี้จะเป็นโรงเรียนนำร่อง และเป็นการพัฒนาผู้เรียนตามความต้องการและความถนัดของผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะและคุณภาพเพิ่มรองรับการเรียนในระดับสูงที่สูงขึ้น รวมถึงการเข้าทำงานในอนาคต ที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้เรียนในพื้นที่อำเภอและตำบลที่ห่างไกลในการเรียนรู้ในแนวทางที่มีประสิทธิภาพโดยองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงเป็นการยกระดับคุณภาพของผู้สอนที่ต้องแสวงหาความรู้ใหม่และนวัตกรรมที่ทันสมัยร่วมด้วย

ข่าว/ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

ที่มา: https://th.kku.ac.th/53398/


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 2 มีนาคม 64