» มข. นำร่องจัดสอนรายวิชา Spring Virtual Global Health Experience ร่วมกับโครงการ USAC และ Clemson University ประเทศสหรัฐอเมริกา (1643 Views)

ฝ่ายการต่างประเทศ นำโดย ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ร่วมกับคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในรายวิชา Spring Virtual Global Health Experience (Pilot program not-for-credit) โดยเป็นความร่วมมือกับโครงการยูแสค (University Study Abroad Consortium: USAC) และ Clemson University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2564 โดยมีนักศึกษาจาก Clemson University จำนวน 12 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 14 คน เข้าร่วมเรียนในวิชาดังกล่าว 

วันที่ 15 มีนาคม 2564 เป็นการบรรยายในหัวข้อภาพรวมของการสาธารณสุขในประเทศไทย โดย รศ. ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย จากคณะเภสัชศาสตร์ และหัวข้อระบบสุขภาพในประเทศไทย โดย อ.ดร.พญ.เสาวนันท์ บำเรอราช จากคณะแพทยศาสตร์

วันที่ 16 มีนาคม 2564 เป็นการบรรยายในหัวข้อการสาธารณสุขมูลฐาน และตัวอย่างของหน่วยบริการปฐมภูมิในจังหวัดขอนแก่น โดย ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ และหัวข้อการสาธารณสุขมูลฐาน การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดย ผศ.ดร.จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี จากคณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้นักศึกษาจากคณะพยาบาลศาสตร์ยังรวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และการบริการชุมชนอีกด้วย

วันที่ 17 มีนาคม 2564 ผศ.ดร. ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส จากคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้บรรยายในหัวข้อการดูแลสุขภาพช่องปากในประเทศไทย และหัวข้อทันตกรรมชุมชนและการศึกษาทางด้านทันตกรรมในประเทศ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 6 จากคณะทันตแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในหัวข้อการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย โดย ผศ.ดร.ศรีสมพร ปรีเปรม จากคณะเภสัชศาสตร์

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ผศ.ดร. อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ได้บรรยายในหัวข้อเภสัชกรชุมชนในประเทศไทย อีกทั้งยังมีการบรรยายถึงบทบาทของเภสัชกรในร้านยา และตัวอย่างการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดย ภญ.ณัฏฐธิดา หาญสุริย์ จากคณะเภสัชศาสตร์

วันที่ 19 มีนาคม 2564  มีการจัดเป็นกิจกรรมให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น  และนักศึกษาจาก Clemson University แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และประสบการณ์การเรียนเรียนรู้จาก 4 วันที่ผ่านมา  รวมถึงนำเสนอผลการเรียนรู้เป็นรายกลุ่ม  ทั้งนี้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านจะร่วมให้ข้อเสนอแนะและสะท้อนผลการเรียนรู้ของนักศึกษา 

รายวิชา Spring Virtual Global Health Experience (Pilot program not-for-credit) ถือเป็นกิจกรรมนำร่องการเรียนการสอนออนไลน์ระยะสั้น และจากผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแผนการขยายผลการจัดรายวิชาในลักษณะการสอนแบบออนไลน์ในสาขาวิชาอื่นๆ รวมถึงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (Internship), Exchange Program, Training Program และ Mobility Program เป็นต้น 

ข่าว : ภัทรธีรา ทุมทัน
ภาพ : ภัทรธีรา ทุมทัน/จริยา สงวนรัตน์

 


Poster : พราวแสง ภูสิงหา [Ms. Prowsaeng Poosinghar] | 20 มีนาคม 64